วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการปรับปรุงน้ำเสียง



วิธีปรับปรุงน้ำเสียง
๑.      พูดให้เสียงดังฟังชัด
การพูดให้เสียงดังไว้ก่อน  ได้ผลดีเสมอ  อย่างน้อยก็เป็นการปลุกผู้ฟังให้ตื่น  และแสดงถึงความเชื่อมั่นในตนเอง 
                  มีปัญหาว่า ดังแค่ไหนจึงจะนับว่าพอดี   
                  คำตอบก็คือ  ดังพอที่ผู้ฟังทั้งห้องได้ยิน  ผู้ฟังน้อยก็ดังพอประมาณ   ผู้ฟังมากถ้าไม่มีเครื่องขยายเสียงก็ต้องดังมากจนเกือบตะโกน  แต่ถ้ามีเครื่องขยายเสียงที่ดี  ก็ไม่จำเป็นต้องตะโกน เพราะอาจดังเกินความจำเป็น  จนกลายเป็นแสบแก้วหู
                  ปัญหาต่อไปก็คือ  จะทราบได้อย่างไรว่า  ผู้ฟังทุกคนได้ยิน
                  ตอบได้ว่า  จงคะเนให้ผู้ฟังที่นั่งอยู่แถวหลังสุดได้ยิน  ก็นับว่าเพียงพอแล้ว

๒.     จังหวะการพูดไม่ช้าหรือเร็วเกินไป
การพูดช้าเกินไป  ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย  ง่วงเหงาหาวนอน  พูดเร็วเกินไป  ทำให้ผู้ฟังติดตามไม่ทัน  และผิดพลาดได้ง่าย  ดั้งนั้นการพูดคล่องจึงไม่เป็นผลดีเสมอไป
วิธีพูดให้ได้จังหวะพอดี  คือการหัดพูดหรือหัดอ่านเป็นประโยค ๆ   เว้นวรรคตอนให้ถูก  พูดให้ชัดเจน ขาดคำขาดความ  อย่าตู่คำตู่ประโยค  อย่าพูดรัวเสียจนผู้ฟังรู้สึกเหนื่อยแทน
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่พูดติดอ่างหรือพูดไม่ชัด  อย่าพยายามพูดเร็วเป็นอันขาด  ลดอัตราให้ช้าลงกว่าที่เคยพูดตามปกติ  มิฉะนั้นผู้ฟ้งจะฟังไม่รู้เรื่อง

๓.      อย่าพูดเอ้อ-อ้า
       ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องพูดคำเอ้อหรือคำอ้า    เพราะไม่ผลดีใด ๆ ทั้งสิ้น  โดยมากพูดติดเอ้อ-อ้ากันแทบทุกประโยค   มีทั้งอย่างสั้นและอย่างยาว   น่ารำคาญสิ้นดี    บางคนติดมาโดยไม่มีเหตุผลอะไร  นึกว่ามันเป็นของโก้เก๋   บางคนติดมาเพราะคิดอะไรไม่ทัน    ก็เอาคำเอ้-อ้า บรรจุเข้าไปตามช่องว่างต่าง ๆ     บางคนเลียนแบบนักพูดดัง ๆ     ก็น่าแปลกใจว่าสิ่งที่ดี ๆ ทำไมไม่เลียน  มาเลียนเอาแต่คำเอ้อ-อ้า
       ผลเสียของการพูดเอ้อ-อ้า  คือเสียเวลา  เสียรสชาติของการพูด  ทำให้ผู้ฟังรำคาญและบางครั้งคำว่าอ้า   อาจทำให้ประโยคทั้งประโยคเสียความหมายไปเลยก็ได้  ทางที่ดีควรตัดออกให้เหลือน้อยที่สุด  หรือไม่มีเลยยิ่งดี  ติดขัดก็เว้นจังหวะไป
        การหยุดบ้างเป็นบางครั้ง   กลับเป็นผลดีมากกว่าการพูดไม่ติดขัดเสียด้วยซ้ำ              จึงไม่จำเป็นต้องบรรจุ ๒ คำนี้เข้าไปเลย ไม่ว่ากรณีใด ๆ
       พึงระลึกไว้เสมอว่า เอ้อ – เสียเวลา    อ้าเสียคน

๔.     อย่าพูดเหมือนอ่านหนังสือหรือท่องจำ
ท่วงทำนองแบบอ่านหนังสือหรือท่องจำ  คือ พูดคล่องเป็นเรือล่องตามน้ำ  พูดไม่มีจังหวะจะโคน ไม่มีชีวิตชีวา  ติดจะเร็วไปนิดและตาเหม่อลอย คล้ายกับกลัวจะลืมที่ท่องมา   พอถึงตอนที่ติดขัดนึกไม่ออกก็เสียขบวนไปเลย
บางครั้งพูดผิดแล้วมัวทวนซ้ำใหม่  จนผู้ฟังจับได้ว่าท่องจำมาพูด   แทนที่จะหาทางพลิกแพลงประโยค หรือพูดดัดแปลงที่ผิดให้กลายเป็นถูก     ส่วนมากการพูดแบบนี้มักมีคำว่า    ขอโทษ ปนอยู่ประปราย เช่นเดียวกับนักเรียนอ่านออกเสียงหน้าชั้น
ทางที่ดีควรหัดพูดในลีลาสนทนา  คือ  พูดไปนึกไป  ถ่ายทอดความคิดโดยตรงจาก       ผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง


๕.     พูดด้วยความรู้สึกที่จริงใจ
ต้องใส่ความกระตือรือร้น  ใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไป  อย่าพูดราบเรียบโดย        ใช้เสียงทำนองเดียว  ผู้ฟังไม่ใช่หัวหลักหัวตอ  ไม่ใช่ขอนไม้  ที่จะมานั่งฟังเรื่องราวอันจืดชืด        ไม่เป็นรสของท่าน   พยายามเตือนตัวเองตลอดเวลาว่า  กำลังพูดอยู่ต่อหน้าคนซึ่งมีชีวิตจิตใจ          มีความรู้สึกตอบสนอง
การพูดที่จริงใจจะออกมาในรูปของการเน้นหนักเบา  เสียงสูงเสียงต่ำ  การเน้นจังหวะ  การรัวจังหวะ ตลอดจนการหยุดเล็กน้อยก่อนหรือหลังการพูดที่สำคัญ ๆ
สิ่งเหล่านี้แสร้งทำไม่ได้  ต้องอาศัยการฝึกซ้อม  การคุ้นเวที  การปลุกความรู้สึกของตนเองให้มีความรู้สึกและเชื่อตามนั้นจริง ๆก่อน  จึงจะสามารถถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวาให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามได้
มีคำเตือนที่น่าจดจำอยู่ว่า
อย่าพูดจนกว่าท่านจะมี ความเข้าใจ ในเรื่องที่ท่านจะพูด
 อย่าพูดจนกว่าท่านจะมี ความเชื่อ  เรื่องที่ท่านพูดและอย่าพูดจนกว่าท่านจะมี       ความรู้สึกตาม เรื่องที่ท่านพูด



ความรู้สึกที่จริงใจมิใช่การระบายอารมณ์
            ผู้พูดที่กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์  จะไม่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากผู้ฟังเลยเป็นอันขาด
นักพูดที่ดีย่อมไม่สักแต่ใช้อารมณ์อย่างเดียว   แต่ต้องรู้จักใช้สติ ควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในแนวทาง ที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นของตนด้วย  
การรู้จักใช้อารมณ์ในขณะที่พูด  จะเป็นเครื่องสนับสนุนความมุ่งหมายของผู้พูดที่จะช่วยผูกมัดใจผู้ฟังได้สำเร็จ
            ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น ขณะผู้พูดระบายอารมณ์ คือผู้พูดเหนื่อย  ผู้ฟังหัวเราะ
            ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น ขณะผู้พูดพูดจากความจริงใจ คือผู้พูดไม่เหนื่อย  ผู้ฟังเงียบกริบ
            ในการพูด เราจึงพูดอย่างราบเรียบเรื่อยเฉื่อยไม่ได้  ต้องสอดใส่ความรู้สึกและอารมณ์ลงไป  อาศัยขั้นตอนการจูงใจ  เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเราจนถึงจุดสุดยอดของสุนทรพจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น